โรคไข้เลือดออก พบบ่อยในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี บางคนเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพียงไม่กี่วันก็หาย แต่ก็มีบางกรณีที่อาการหนักจนถึงเสียชีวิตเลยก็มี โรคนี้มักระบาดในช่วงฤดูร้อนเพราะมีตัวพาหะอย่างยุ่งลายอยู่เยอะ สาเหตุของไข้ชนิดนี้เกิดจากการได้รับเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งเข้าสู่กระแสเลือด โดยมียุงเป็นพาหะ อาการของคนที่เป็นไข้เลือดออกคือ มีไข้สูงแบบฉับพลันแล้วไข้ก็สูงอยู่อย่างนั้นไปประมาณ 2-7 วัน กินยาอย่างไรก็ไม่ลด หน้าจะแดง ปวดเมื่อยตามตัว หิวน้ำ ไม่ทานข้าว รู้สึกจะอาเจียนตลอดเวลา ลักษณะในระยะนี้จะเหมือนคนเป็นไข้ธรรมดาๆ ทั่วไป เพียงแต่ไม่มีอาการคัดจมูกหรือน้ำมูกไหลแบบหวัดทั่วไป ระยะต่อมาคือ ระยะช็อก อาการนี้จะเกิดขึ้นในช่วงวันที่ 3-7 ของโรค ลักษณะคือไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว ชีพจรเต้นเบาแต่เต้นในอัตราที่เร็ว มีอาการเขียวจ้ำๆ ที่ผิวหนัง อุจจาระเป็นเลือด ซึ่งเป็นช่วงที่อันตรายมาก ต้องรีบได้รับการรักษาให้ทันเวลา ในบางรายเสียชีวิตในระยะนี้เพราะว่าส่งตัวไปรักษาไม่ทัน ประมาทคิดว่าเป็นไข้แบบธรรมดา
ยุงดัดแปลงพันธุกรรม GMO
ทุกวันนี้หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย ให้ความสำคัญกับโรคไข้เลือดออก จึงมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งนั่นก็คือ การตัดต่อพันธุกรรมของยุง หรือเรียกว่า Genetically Modified Mosquito เป็นการดัดแปลงพันธุกรรมของยุงลายที่เป็นพาหะของโรคไข้เลือดออก ยุง GMO คือ ยุงดัดแปลงพันธุกรรมใช้วิธีตัดต่อ DNA ไวรัสโรคเริม และ แบคทีเรียอีโคไล ใส่ลงในยุงตัวผู้ แล้วปล่อยสู่ธรรมชาติไปผสมพันธุ์กับยุงตัวเมีย การทดลองนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ ปี พ.ศ.2545 พัฒนามาเรื่อยๆ ในหลายๆ ประเทศ เคยมีรายงานว่า บริษัทออกซิเทค (บริษัทเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านชีวภาพในประเทศอังกฤษ) ได้จัดตั้ง Lab เพื่อทดลองในประเทศบราซิล ที่เมืองกัมปีนัส เหตุผลที่เลือกประเทศบราซิลเพราะ ประเทศบราซิลถูกโรคไข้เลือดออกคร่าชีวิตไปมากกว่าประเทศอื่นๆ ทั่วโลก บริษัทออกซิเทคให้ความเห็นว่า หากยุงGMO เพศผู้ถูกปล่อยออกไปในธรรมชาติจำนวนมากพอ แล้วไปผสมพันธุ์กับตัวเมียในธรรมชาติจะทำให้จำนวนของยุงลดลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการเกิดโรคไข้เลือกออกได้ แต่อย่างไรก็ตามประเทศบราซิลก็ยังไม่อนุญาตให้กระทำการดังกล่าวเพราะเกรงว่ายุงพวกนี้จะสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศ และบริษัทออกซิเทคยังเคยประกาศว่าจะเอายุงจีเอ็มโอนี้มาทดลองในเอเชีย โดยประเทศหนึ่งในนั้นคือประเทศไทยเราด้วย แต่ในขณะนี้ก็ยังไม่มีรายงานว่ามีการอนุญาตให้ทำการทดลองแต่อย่างใด
ถึงอย่างไรก็ตามการนำสัตว์ที่ดัดแปลงธรรมชาติ ปล่อยสู่ธรรมชาติเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและต้องใช้ความรอบคอบในการตัดสินใจอย่างมาก เพราะการฝืนธรรมชาติจะนำมาซึ่งปัญหาที่ไม่คาดคิดในอนาคตได้